เอลันตราเป็นรถที่ทางฮุนไดจับกลุ่มซีเซ็กเม็นท์ ซึ่งก็เป็นตลาดเดียวกับพวกซีวิคหรืออัลติส สำหรับรุ่น1.8 ลิตร มีการตั้งราคาไว้ที่ 899,000 บาท ในรุ่นเกียร์ธรรมดา 1,088,000 บาท สำหรับรุ่นเอสเกียร์ออโต และ 1,198,000 บาท สำหรับรุ่น จีซึ่งนี่คือเหตุผลว่าทำไมรถรุ่นนี้ถึงไม่ประสบความสำเร็จในตลาดเมืองไทย เมื่อมองดูราคาอาจจะดูแพงกว่ารถระดับเดียวกัน แต่การทำราคาได้ขนาดนั้นมันก็ไม่ธรรมดาสำหรับรถนำเข้าที่ต้องเจอกับกำแพงภาษีสูงๆ ของเมืองไทย หากนำเข้ามาประกอบในเมืองไทยได้ ราคาคงจะต่ำกว่านี้แน่นอน
หน้าตาของเอลันตราต่างไปจากตอนที่พระนครฯนำเข้ามาขายเยอะ ยุคนั้นเอลันตราหน้าตาแบบพื้นๆ สู้รถญี่ปุ่นยังไม่ได้ อีกทั้งเทคโนโลยีก็ยังไม่ได้พัฒนาให้ก้าวไกลนัก ราคาจึงเป็นรองรถญี่ปุ่นเยอะ การปรับเปลี่ยนของฮุนไดมาจากใจที่เปิดกว้างยอมรับให้ชาวต่างชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทในการออกแบบและพัฒนา จึงตั้งศูนย์การออกแบบอยู่ที่ยุโรปทำให้รูปโฉมทันสมัยขึ้นเยอะ ต่างจากรถญี่ปุ่นที่ยังยึดติดกับอัตตาตัวเอง จึงหนีไม่พ้นไปจากรูปแบบเดิมๆ
เส้นสายของเอลันตราโฉบเฉี่ยวกว่ารถญี่ปุ่น มีเส้นโค้งในสไตล์ 4 ประตูคูเป้ในสไตล์ยุโรป มีการขัดเกลาหลายร้อยชั่วโมงในอุโมงค์ลม ซึ่งทางฮุนไดมีไว้ใช้เองในเกาหลี ทำให้เป็นงานชิ้นเอกที่สะท้อนความเป็นพรีเมี่ยมในรถขนาดเล็กไฟหน้าออกแบบเป็นสปอร์ตในชุดโคมไฟมัลติรีเฟล็คชั่น หรูหราดุดัน ไฟตัดหมอกติดตั้งให้มีทัศนะวิสัยดีขึ้น กระจกมองข้างติดไฟแอลอีดีมาให้ เส้นสายรอบคันจะคมชัดเห็นได้ถึงความพลิ้วไหวได้เป็นอย่างดี
เข้าสู่ห้องโดยสารจะเห็นถึงการออกแบบเส้นสายที่พลิ้วไหวของชิ้นส่วนต่างๆ โดยเฉพาะแผงคอนโซลที่เราไม่ได้เห็นในรถรุ่นอื่นๆ การจัดวางช่องแอร์กลางจึงมีตำแหน่งที่ต่างออกไป แผงคอนโซลกลางก็มีทรวดทรงองค์เอวให้เห็นได้อย่างชัดเจน
พวงมาลัย 4 ก้านจับได้ถนัดมือมีมาตรวัดที่มองเห็นได้ชัดเจน ปุ่มควบคุมบนพวงมาลัยช่วยให้ใช้งานได้สะดวก คันเกียร์พร้อมร่องที่บังคับตำแหน่งไม่ให้พลาดในตำแหน่งที่ต้องการการจัดวางอุปกรณ์ต่างๆ อยู่เป็นกลุ่มเพื่อสะดวกในการใช้งาน การปรับเปลี่ยนเครื่องเสียงจึงทำได้ยากสักหน่อย วัสดุที่ใช้อาจจะไม่ต่างออกไป แต่การเลือกและจัดวางทำให้ดูมีราคามากขึ้น เข้าไปนั่งได้อย่างกระชับกับเบาะนั่งที่ออกแบบมาเพื่อรองรับกับสรีระได้ดีพร้อมระบบดันหลังเป็นเบาะปรับไฟฟ้า 10 ทิศทาง เหยียบเบรกแล้วกดปุ่มสตาร์ทก็พร้อมจะทะยานไปข้างหน้า

น่าแปลกใจสำหรับเครื่องยนต์แถวเรียง 4 สูบ 16 วาล์ว พร้อมวาล์วแปรผันคู่ว่าทำไมถึงได้มีอัตราเร่งดีกว่ารถในระดับเดียวกันจากเครื่องยนต์ 1,797 ซีซี ซึ่งให้กำลังสูงสุด 150 แรงม้าที่ 6,500 รอบต่อนาที และแรงบิดสูงสุด 178 นิวตัน – เมตร ที่ 4,700 รอบต่อนาที ถึงเครื่องยนต์อยู่ระดับกลางๆ แต่ฮุนไดก็เลือกเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีดมาให้ ทำให้การปรับอัตราทดของแต่ละเกียร์ทำได้อย่างเหมาะสม การเรียกกำลังมาใช้จึงทำได้รวดเร็ว สามารถทำอัตราเร่งได้อย่างรวดเร็วทันใจ
ช่วงออกตัวทำได้ทันท่วงทีพร้อมกับความเร็วที่เพิ่มขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง มีโอกาสได้สัมผัสกับความเร็ว 190 กม./ชม. โดยมีคันเร่งเหลือไว้สำหรับเติมได้อีก อัตราเร่งแซงทำได้รวดเร็ว รอบเครื่องยนต์ไม่สูงนัก เส้นทางสูงๆบนทางยกระดับบูรพาวิถีที่ต้องเจอกับลมแรงๆ ไม่ได้สร้างปัญหาใดๆ ให้กับเอลันตราเมื่อใช้ความเร็วสูงจนมีบางคันกล้าทำความเร็วไล่ไปกับ ซีแอลเอส ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ได้
เมื่อต้องเหยียบเบรกกะทันหัน เบรกจับตัวอย่างรวดเร็วจนรถหยุดในทันที เพราะเบรกมีขนาดใหญ่มาพร้อมกับระบบเอบีเอสและระบบเพิ่มแรงเบรกที่ช่วยหยุดรถได้เร็ว ด้วยตัวถังน้ำหนักเบาที่ใช้โครงสร้างทำจากเหล็กกล้าทนแรงดึงสูงเป็นพิเศษ ผลิตจากโรงงานผลิตเหล็กของฮุนไดโดยตรง จึงทำให้รถเบาขึ้น แต่แข็งแรงมากขึ้น เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รถมีอัตราเร่งที่ดีขึ้น ระบบกันสะเทือนทั่วๆไป เทอร์ชั่นบีมด้านหลังและแม็คเฟอร์สันสตาร์ทด้านหน้าเหมือนรถญี่ปุ่นแต่การทำงานทำได้ดีกว่า จึงได้ความสนุกมั่นใจในการบังคับควบคุม ถือเป็นรถเล็กที่ครบเครื่องหากตัดเรื่องของราคาออกไป ฮุนไดเอลันตราจึงเป็นรถที่มีสมรรถนะที่โดดเด่นยากจะหารถญี่ปุ่นมาเทียบได้