ตลาดยานยนต์ในประเทศไทยกำลังเผชิญกับความซับซ้อนของ VUCA (ความผันผวน ความไม่แน่นอน ความซับซ้อน และความคลุมเครือ) ไม่ต่างจากตลาดอื่นๆ แม้ว่ารัฐบาลไทยจะให้การสนับสนุน แต่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยกลับประสบปัญหาชะลอตัว เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเรื่องสงครามราคาและประสบการณ์ด้านบำรุงรักษา บทความนี้ อ้างอิงจากรายงาน Automotive Industry Trends ของดีลอยท์ โดยจะนำเสนอบริบทและศักยภาพที่ซ่อนเร้นของผู้ผลิต (OEMs) และห่วงโซ่คุณค่า รวมถึงนำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับภูมิทัศน์ยานยนต์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ยอดขายยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยชะลอตัวลง ได้แก่ ความไม่แน่นอนของการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ หนี้ครัวเรือนที่สูง และ อัตราการปฏิเสธสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น เพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ ค่ายรถยนต์ต่าง ๆ จำเป็นต้องเร่งอุณหภูมิของสงครามราคา ทั้งการปรับราคาของรถยนต์รุ่นที่ทำตลาดอยู่ รวมถึงเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ที่ราคาเข้าถึงได้มากขึ้นมาร่วมแข่งขัน ส่งผลกระทบต่อทั้งอุตสาหกรรมไปจนถึงตลาดรถยนต์มือสอง
ผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศเยอรมนีและสหรัฐอเมริกามีการปรับลดการลงทุนด้านรถยนต์ไฟฟ้า ลดการผลิต และ ลดราคาเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน โดยได้มุ่งเน้นไปที่รถยนต์ไฮบริดเพื่อเป็นโซลูชันการเปลี่ยนผ่านระหว่างรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine: ICE) และรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) เช่น รถยนต์ไฟฟ้าที่มีระบบขยายระยะทางในการขับขี่ (Extended Range Electric Vehicles: EREV) ทั้งนี้ จากรายงาน 2025 Global Automotive Consumer Study ของดีลอยท์ พบว่าความต้องการของลูกค้าชาวไทยที่มีต่อรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในและรถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle: PHEV) เพิ่มขึ้นระหว่างปี 2024 และปี 2025 แต่ความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) ยังคงทรงตัว