
ตลาดรถกระบะดัดแปลงเดี๋ยวนี้มีคู่แข่งเยอะทั้งค่ายโตโยต้า มิตซูบิชิ และ อีซูซุ ทำให้ยอดขายมีไม่มากเหมือนในอดีต ยิ่งไม่มีการปรับเปลี่ยนเรื่องรูปแบบก็คงจะต้องค่อยๆล้มหายตายจากกันไปไทยรุ่งฯ มองเห็นช่องทางสำหรับการตลาดที่ไม่มีใครสนใจ นั่นก็คือหน่วยงานรัฐโดยเฉพาะหน่วยงานที่ต้องรักษาความมั่นคงของประเทศที่ต้องการใช้รถ ต่างไปจากผู้คนทั่วๆไป จึงได้เปิดตัวรถ MUV 4 ออกมาเพื่อใช้เป็นรถลาดตระเวนที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ

ชื่อรถประเภทนี้ค่ายไทยรุ่งฯใช้ชื่อ MUV 4 หากเป็นตัวถนนที่จะเปิดตัวในอนาคตใช้ชื่อทรานฟอร์เมอร์ เพื่อให้ดูเหมือนหุ่นรบที่มีความแข็งแกร่งกว่ารถทั่วๆไป โดยใช้หน้าตาคล้ายๆกับพวกฮัมเมอร์หรือแลนด์โรเวอร์ ดีเฟนเดอร์ ที่นำกลับมาทำให้แบบย้อนยุค
ปกติการดัดแปลงรถจะยังคงอาศัยเค้าโครงของเดิมเอาไว้โดยเฉพาะหัวเก๋งที่ยกชุดมารวมถึงเครื่องยนต์ระบบส่งกำลังและช่วงล่าง จะมีแต่การยืดหลังคาให้ยาวจรดหลังและปรับภายในนิดหน่อยก็พอแล้ว
สำหรับ MUV 4 จะไม่ยึดแบบนั้น จะมีการขึ้นรูปตัวถังใหม่ทั้งหมด รูปโฉมภายนอกจึงดูไม่ออกว่านำของอะไรมาใช้แม้กระทั่งโคมไฟก็ใช้แบบโคมกลมหลอดไส้เพื่อความทนทาน แสงสว่างอาจจะไม่ดีเท่าฮาโลเจน แต่ก็เหมาะสำหรับรถสไตล์นี้

รถรุ่นนี้ใช้สีเขียวขี้ม้าด้านๆ ไม่สะท้อนแสง เข้ากันดีกับรถทรงเหลี่ยม มาพร้อมอุปกรณ์เสริม ไม่ว่าตระแกรงกันเศษหินกระเด็นโดนไฟหน้าหรือวินซ์ ที่ติดมาเป็นพิเศษไว้ช่วยเหลือตัวเองเวลาติดหล่ม
ความแตกต่างจากรถทั่วๆไป ก็คือความแข็งแรง จากการใช้เหล็กแน่นหนามาพับแล้วเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน เรื่องความละเอียดอ่อนอย่าไปถามหา เพราะเขาขายความดิบ ความแข็งแรง ทนต่อแรงกระทำที่มีมาให้มากกว่ารถทั่วๆไป
เอาง่ายๆอย่างการเปิดฝากระโปรงหน้ารถหากเป็นรถทั่วๆไปก็สามารถเปิดได้เบามือ ยิ่งพวกรถแพงๆ ใช้พวกอลูมิเนียมยิ่งเบามือเข้าไปอีก แต่ไม่ใช่คันนี้เปิดฝากระโปรงขึ้นมายกแทบจะไม่ไหว เพราะทำจากเหล็กกล้าแล้วมีเหล็กกล่องรองรับอีกที เปิดบ่อยๆกล้ามขึ้นได้เหมือนกัน
การใช้งานอาจจะไม่สะดวกแต่เรื่องความแข็งแรงนั้นเหนือกว่ารถทั่วๆไป พวกบานพับจะมีความหนา แข็งแรง ส่วนพวกความแน่นหนาก็จะมีกลอนล็อคหรือตะขอสับปิดทับอีกชั้น
กันชนหนา แข็งแรงแบบรถลุย กันชนหลังจะมีตะขอลากมาให้พร้อม ท่อไอเสียยกขึ้นเพื่อหลบน้ำเวลาลุยน้ำลึกๆ ท้ายรถจะมียางอะไหล่ติดไว้
น้ำหนักรถทั่วไปจะอยู่แค่ตันครึ่ง แต่พอเจอเหล็กหนาทั้งคัน น้ำหนักของ MUV 4 พุ่งขึ้นถึง 2140 กก. นี่ไม่รวมน้ำหนักบรรทุก ไทยรุ่งฯ จึงต้องหาเครื่องยนต์ที่เหมาะสมกับน้ำหนักตัวแบบนี้ เป็นเครื่องยนต์ 1KD-FTV มีเทอร์โบแปรผันและอินเตอร์คูเลอร์ขนาด 2982 ซีซี ให้กำลังสูงสุด 163 แรงม้าที่ 3400 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 343 นิวตันเมตรที่ 1400-3200 รอบต่อนาที
ระบบส่งกำลังเป็นเกียร์ธรรมดา 5 สปีด พร้อมเกียร์เลือกระบบขับเคลื่อนเป็น 2 ล้อหรือ 4 ล้อ ได้ยางที่เลือกมาใช้เป็นยางโอตานิ ขนาด 7.5 x 16 เวลาวิ่งเสียงดอกยางบดถนนได้ยินชัดเจน เอาไว้สำหรับรองรับการลุย
ช่วงออกตัวไม่มีปัญหา เปลี่ยนเกียร์แล้วอัตราเร่งแบบต่อเนื่อง แต่ก็ช้ากว่าฟอร์จูนเนอร์เยอะ ยิ่งเป็นช่วงที่ปล่อยให้รอบลงต่ำกว่า 1000 รอบต่อนาทีแล้วเหยียบคันเร่งส่งรถจะวิ่งไม่ออก ต้องลดเกียร์ช่วยถึงจะไปได้
เมื่อขับรถตัวถังหนักคงต้องทำใจกับอัตราเร่งที่ไม่เท่ากับรถกระบะตัวเปล่า ความเร็วระดับ 100 กม./ชม. ดูจะเหมาะสมกับรถลุยแบบนี้ ความเร็วสูงก็ทำได้ แต่จะรำคาญกับเสียงดังของยาง ซึ่งการใช้งานที่เน้นบนทางเรียบควรจะเลือกตัวที่เหมือนกับฮัมเมอร์มาใช้ดีกว่าจะได้ยางเหมาะสำหรับวิ่งบนถนนด้วย
ภายในไม่ดิบเท่าภายนอก แผงคอนโซลยังเป็นของวีโก้และเบาะนั่งยังทำสไตล์รถกระบะ หากได้แผงคอนโซลแบบพวกแลนด์โรเวอร์คงจะได้ใจกว่านี้
ภายในห้องโดยสารมีเบาะนั่ง 2 แถวนั่งสบายๆ เบาะหลังพับได้พร้อมพื้นที่กว้างๆท้ายรถไว้ขนสัมภาระ เป็นการรองรับไว้ปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นพวก 4 ประตูได้ ทัศนะวิสัยค่อนข้างดีได้ใจคนต่างจังหวัดชอบลุยที่ซื้อรถไปไม่ต้องปรับแต่งอะไรมากก็เข้าป่าลึกๆได้แล้ว