
แนวคิดของรถอีโคคาร์นั้นไม่ถูกจำกัดด้วยขนาดตัวถัง เพราะหากทำแบบนั้นจะทำให้อีโคคาร์กลายเป็นซิตี้คาร์คันเล็กๆ ใช้งานได้แค่ในเมืองเป็นหลัก ที่จะโดนจำกัดยอดขายให้น้อยลง อีโคคาร์คันแรกของเมืองไทยคือนิสสันมาร์ชจึงเป็นรถคันไม่เล็กมาก สามารถใช้งานเดินทางออกนอกเมืองได้สบาย กลายเป็นรถขายดีมากๆของนิสสันอีกรุ่นหนึ่ง
ยังไม่หยุดอยู่แค่นั้น นิสสันยังปล่อยหมัดเด็ดเป็นอีโคคาร์ 4 ประตูในชื่ออัลเมร่าออกมาอีก คราวนี้มีจุดขายมากกว่ามาร์ช โดยมีราคาที่จับต้องได้ พร้อมขยับกลุ่มลูกค้าไปชนวีออสหรือซิตี้เพื่อไม่ให้ไปแข่งกับมาร์ช พอเป็น 4 ประตูตัวถังของอัลเมร่าจึงใหญ่กว่ามาร์ชในทุกมิติ จะมีก็แค่ความสูงน้อยกว่านิดหน่อยก็เป็นเรื่องปกติของ 4 ประตูจะเตี้ยกว่าพวก 5 ประตูอยู่แล้ว
ดูมิติตัวรถของมาร์ชยาว 3,780 มม. กว้าง 1,665 มม. สูง 1,515 มม. มีความยาวฐานล้อ 2,450 มม. ความกว้างของช่วงล้อหน้า 1,470 มม. ช่วงล้อหลัง 1,475 มม. พอเป็นอัลเมร่า ตัวถังจะยาวถึง 4,425 มม. กว้าง 1,695 มม. และสูง 1,500 มม. ฐานล้อยาว 2,600 มม. มีระยะห่างล้อหน้า 1,480 มม. ล้อหลัง 1,485 มม. เพราะฉะนั้นพื้นฐานของมาร์ชจึงด้อยกว่าอัลเมร่า ก็มีเครื่องกับเกียร์เท่านั้นที่เหมือนกัน ราคาของอัลเมร่าตอนเปิดตัวครั้งแรกจะเริ่มจาก 429,000-599,000 บาท เป็นราคาที่แพงกว่าโซลูน่ายุคแรก แต่ก็มีออฟชั่นใส่มาให้เยอะ โดยเฉพาะรุ่นท็อปจะได้กุญแจสมาร์ทคีย์และปุ่มกดสตาร์ทมาให้
ห้องโดยสารจะกว้าง โดยเฉพาะที่วางขาของคนนั่งด้านหลัง ส่วนหนึ่งมาจากการลดเบาะนั่งให้สั้นลงจึงเพิ่มพื้นที่ได้มากขึ้น ทั้งในส่วนของพนักพิงก็มีความสูงไม่ถึงไหล่ แต่ก็จะมีพนักพิงศีรษะมาให้แบบปรับได้ช่วยได้หากจะเพิ่มความสูงของเบาะ
ของเล่นก็มีมากพอสำหรับใช้งานหลัก ๆ ก็จะเป็นตัวเครื่องเสียง แบบ 2 ดินให้เสียงอยู่ในระดับน่าพอใจและที่ขาดไม่ได้ก็คือทริปแสดงข้อมูลของอัตราบริโภค ตัวนี้อาจจะดูไม่มีอะไร แต่ถ้าเปิดไว้ในช่วงขับ จะทำให้เท้าผ่อนคันเร่งลงเวลาที่เห็นตัวเลขอัตราบริโภคขยับขึ้นลง
เครื่องยนต์ที่ใช้จะเป็นรหัส HR 12 DE ที่มีสูบน้อยกว่า 1 ตัว เมื่อเทียบกับดีด้า จึงได้เครื่องยนต์ แถวเรียง 3 สูบ ทวินแคม 16 วาล์ว พร้อมทั้งระบบ CTVC( Continuously Variable-Valve Timing Control ) ให้กำลังสูงสุด 79 แรงม้าที่ 6000 รอบต่อนาที จากความจุ 1198 ซีซี มีแรงบิด 106 นิวตันเมตร ที่ 4000 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติซีวีทีที่จะดีในช่วงออกตัวได้อัตราเร่งที่มาเร็วกว่าเกียร์ธรรมดา จากการปรับอัตราทดได้มากกว่า
พอออกตัวจึงเห็นอาการดึงของรถได้ชัดเจน พร้อมกับความเร็วได้สูงขึ้น ไม่ต้องกดคันเร่งหนักเพราะไม่จำเป็นสำหรับเกียร์แบบนี้ ความเร็วไต่ขึ้นไปเรื่อยๆ หากเท้ากดคันเร่งคาไว้ รอบเครื่องยนต์ต่ำมาก กับ 3,000 รอบต่อนาที ความเร็วไต่ขึ้นไปถึง 135 กม./ชม. ประหยัดมากหากเดินทางด้วยความเร็วคงที่ ได้ แต่อัตราเร่งแซงจะด้อยกว่าเกียร์ธรรมดา ช่วงล่างไม่ธรรมดาสำหรับรถระดับนี้ มีโอกาสลองความเร็วระดับ 160 กม./ชม. การทรงตัวยังคงนิ่งอยู่ ถือว่าเป็นการปรับตัวของค่ายนิสสันที่ทำรถออกมาโดนใจคนไทยมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน