
สำหรับปอร์เช่ บ็อกซเตอร์ ปี 55 ได้เข้าสู่เจนเนอเรชั่นใหม่ ที่มีการปรับเปลี่ยนโฉมใหม่เกือบทั้งหมด โดยการทำให้ตัวถังเบาขึ้น มีน้ำหนักลดลง ตัวรถกว้างขึ้น ใช้ฐานล้อยาวขึ้น ใช้ล้อใหญ่ขึ้น ถูกออกแบบรูปโฉมให้ดูแตกต่างไปจากเดิม มีระยะยื่นจากล้อไปจนถึงปลายกันชนสั้นลง ออกแบบให้ตัวรถแบนราบมากขึ้นโดยใช้กระจกหน้าที่มีมุมตั้งไปข้างหน้ามากขึ้น จึงทำให้รถมีความเป็นสปอร์ตมากขึ้น
ด้วยรูปแบบของเครื่องยนต์วางกลางขับเคลื่อนล้อหลัง มีการปรับปรุงตัวถังใหม่หมด เพื่อให้ได้รถที่มีการเกาะถนนได้ดีขึ้น เป็นการทิ้งความรู้สึกเดิมๆ เอาไว้ข้างหลังด้วยการขยายฐานล้อให้ยาวขึ้นอีก 60 มม. สำหรับการทรงตัวและยึดเกาะถนนได้ดีขึ้นเวลาใช้ความเร็วสูง ในส่วนความกว้างของรถที่มากขึ้นของเพลาทั้งสองข้าง ทำให้รถสามารถยึดเกาะถนนและการทรงตัวได้ดีขึ้นยามที่อยู่ในโค้ง ส่วนยางที่ใหญ่ขึ้นก็ทำให้การยึดเกาะถนนทำได้ดีขึ้นเช่นกัน
ตัวถังช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการขับขี่และการเกาะถนนมากขึ้น อีกทั้งยังได้ความสะดวกสบายสำหรับการใช้ในชีวิตประจำวัน โดยมีการออกแบบตัวถังใหม่หมด โช้คอัพใช้เป็นแก๊ส เพลาหน้าถูกออกแบบให้มีน้ำหนักเบา มีการใช้สปริงท่อนยึดปีกนกล่างแบบแม็คเฟอร์สันที่ออกแบบให้สอดคล้องกับตัวรถ ท่อนยึดปีกนกช่วงล่างมีขนาดกระรัดรัดกว่าเก่า แต่ให้ความหนึบและแม่นยำมากขึ้น
การใช้อลูมิเนียมมาช่วยทำให้ท่อนยึดปีกนกล่างแยกจากช่วงล่างก็ช่วยเพิ่มการส่งผ่านของแรงกดสปริงได้มากขึ้น ตัวถังจึงมั่นคงมากขึ้น เพลาหน้าออกแบบให้สอดคล้องและเหมาะสมหากเกิดการชน รวมถึงการพัฒนาให้มีการลดองศาการทรุดตัวของช่วงล่างด้านหน้าเมื่อมีการเบรกอย่างเต็มที่ ช่วยลดระยะเบรกให้สั้นลงด้วย
บ็อกซเตอร์ยังคงเอกลักษณ์ความเป็นปอร์เช่เอาไว้ในเรื่องรูปโฉม แต่ได้ความทันสมัยมากขึ้นกับตัวถังขนาดกะทัดรัด มีน้ำหนักเบาที่สุดในคลาส ากการใช้อลูมิเนียมมาแทนเหล็กซึ่งเป็นอลูมิเนียมผสมที่ผ่านการหล่อขึ้นรูปด้วยแรงอัดสูง สำหรับแผ่นอลูมิเนียม แมกนีเซียมและเหล็กที่มีความแข็งแรงแกร่งสูง ถูกปรับแต่งให้เข้ากับตัวรถ ด้านหลังจะมีการสร้างแรงกดได้มากขึ้น มีการลดแรงเสียดทานให้น้อยลง ปีกหลังถูกขยายใหญ่ขึ้น กว้างไปจนถึงด้านข้างของรถเป็นการลดแรงยกทางด้านหลังในตัว
รูปโฉมแบนี้ช่วยได้มากในเรื่องความลู่ลม โดยมีค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานเพียงแค่ 3.0 โดยมีช่องดักอากาศทางด้านข้างของรถสำหรับรับอากาศระบายความร้อน ช่องดักอากาศระบายความร้อน ช่องดักอากาศของบ็อกซ์เตอร์จะใช้สีดำ ความเป็นสปอร์ตสำคัญมากในเรื่องการเกาะถนน ในบ็อกซ์เตอร์ใหม่จะมีแรงยกลดลง ทำให้ช่วงความเร็วสูงรถจะมีการเกาะถนนดีขึ้นด้วย ลิ้นสปอยเลอร์หน้าและครีบปรับทิศทางลมด้านหน้าจะช่วยลดอาการหน้ายกได้เป็นอย่างดี
การออกแบบห้องโดยสารนำหลักการของรถซูเปอร์คาร์มาใช้ คอนโซลกลางจะยาวและยกสูงแบบรถแข่งทำให้คอนโซลเกียร์ยกสูงขึ้นด้วย สำหรับการบังคับควบคุมที่แม่นยำขึ้น ฟังก์ชั่นต่างๆ ถูกรวบรวมไว้ตรงคอนโซลกลางเพื่อความสะดวกในการใช้งาน
ถึงจะเป็นรถสปอร์ต แต่บ็อกซ์เตอร์ก็ไม่ขาดเรื่องความสะดวกสบาย เมื่อเข้าไปนั่งในรถจะได้พบกับเบาะหนังทรงสปอร์ตที่ไม่ถึงกับวางติดพื้นแต่ก็เตี้ยพอสำหรับการลดความสูงของเบาะ สามารถปรับยกพื้นเบาะได้บ้าง สำหรับการปรับเบาะให้เข้ากับสรีระของแต่ละคน เบาะนั่งแบบสปอร์ตจะปรับระดับให้ต่ำลงได้ 5 มม. มีช่องว่างหรือที่พักขามากขึ้นเพื่อความสบายเวลาขับนานๆ ปีกเบาะถูกเสริมมากขึ้น สามารถปรับยกระดับได้ เมื่อปรับพวงมาลัยให้ได้ระดับแล้วก็พร้อมที่จะใช้งาน
เครื่องยนต์บ็อกเซอร์สูบนอนขนาด 2.7 ลิตร พร้อมระบบวาล์วแปรผัน จะให้กำลังสูงสุด 265 แรงม้า ที่ 6,700 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 280 นิวตัน –เมตร ที่ 4,500 – 6,500 รอบต่อนาที ใช้ระบบการส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติคลัตซ์คู่ 7 สปีด สามารถทำความเร็วได้ถึง 262 กม./ชม. อัตราเร่งทำได้รวดเร็ว แต่ก็ยังไม่ถึงกับหลังติดเบาะ กับอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ในเวลา 5.7 วินาที ส่วนในเรื่องอัตราบริโภคนั้นไม่เหมือนกับการเป็นรถสปอร์ต เพราะทำได้ถึง 13 กม./ลิตร แทบจะไม่ต่างไปจากรถใช้งานทั่วไปเลย
สิ่งที่เป็นจุดขายอย่างหนึ่งของ บ็อกซ์เตอร์ก็คือ หลังคาเปิดประทุนที่มีการออกแบบให้สมบูรณ์มากขึ้น จากกระจกหน้าที่ลาดเอียงมากขึ้นและย้ายไปด้านหลังรถ โครงกระจกมีจุดยึดกับหลังคา เวลาเปิดประทุนจะเห็นได้อย่างชัดเจนในความแตกต่างจากรุ่นเดิม เมื่อเอาฝาช่องเก็บหลังคาอออกไปทำให้ได้น้ำหนักที่เบากว่าเดิม การเปิดปิดทำได้ง่ายด้วยไฟฟ้า จากการกดค้างไว้ในเวลาไม่นานก็เป็นอันเรียบร้อย การเก็บเสียงก็ทำได้ดี สามารถลดไปได้ถึง 4 เดซิเบล เหลือ 71 เดซิเบล ต่อ 100 กม./ชม. จากการใช้วัสดุซับเสียงมาใช้ทำหลังคา